วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

คำสอนจาก..หลวงปู่ขาว อนาลโย


อันสกุลที่ว่าสูงหรือต่ำนั้น
บรรดาสัตว์โลกผู้อยู่ใต้อำนาจกฎแห่งกรรม
ย่อมมีทางเกิดได้ด้วยกัน
อย่าว่าแต่ปู่คนเดียวเลย
แม้แต่ภพชาติสูงต่ำนั้นเป็นสายทางเดินของสัตว์โลก
ผู้มีกรรมจำต้องเดินต้องผ่านเหมือนกันหมด
คนมีวาสนามากก็ผ่าน
คนมีวาสนาน้อยก็ผ่านภพกำเนิดสกุลต่างๆ ดังกล่าวมา
เช่นหลานเป็นพระเจ้าฟ้าเจ้าคุณ มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่
หลานจากที่นี่ไปกรุงเทพฯ ด้วยเท้าก็ดี
ด้วยรถยนต์ รถไฟก็ดี ด้วยเรือเหาะเรือบินก็ดี
หลานจำต้องผ่านดินฟ้าอากาศ
เย็นร้อนอ่อนแข็งที่สูงๆ ต่ำๆ
ซึ่งมีอยู่ตามรายทางเรื่อยไป
จนถึงจุดหมายปลายทางคือกรุงเทพฯ โดยไม่อาจสงสัย


การเกิดในสกุลสูงๆ ต่ำๆ ตลอดภพชาติต่างๆ กันนั้น
สัตว์โลกเกิดตามวาระกรรมของตนมาถึง
แม้จะทรงบุญหนักศักดิ์ใหญ่
แต่เมื่อถึงวาระกรรมของตนที่ควรจะเสวยอย่างไร
ก็จำต้องเสวยตามรายทางคือภพชาตินั้นๆ


เท่าที่ปู่มาเกิดในสกุลชาวนา
ปู่ก็ไม่เสียอกเสียใจ ไม่น้อยเนื้อต่ำใจ
เพราะปู่เชื่อว่า ปู่มาเกิดตามวาระกรรมของปู่เอง
ปู่จึงไม่ตำหนิติเตียนบิดามารดาผู้ให้กำเนิด
ตลอดญาติมิตรพี่น้องที่เกิดร่วมและใกล้ชิดสนิทกันว่ามาให้โทษปู่
มันเป็นกรรมของใครของเรา
ดังธรรมท่านสอนไว้ไม่มีผิด ไม่มีที่คัดค้าน
ปู่ยอมรับธรรมท่านอย่างซึ้งใจ ไม่มีวันถอนเลย


(จาก หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ขาว อนาลโย)

วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

คำสอนจาก..หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

สิ่งที่ล่วงไปแล้ว
ไม่ควรทำความผูกพัน
เพราะเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้วอย่างแท้จริง
แม้จะทำความผูกพันและมั่นใจในสิ่งนั้น
กลับมาเป็นปัจจัยก็เป็นไปไม่ได้
ผู้ทำความสำคัญมั่นหมายนั้น
เป็นทุกข์แต่เพียงผู้เดียว
โดยความไม่สมหวังตลอดไป
อนาคตที่ยังไม่มาถึง
ก็เป็นสิ่งไม่ควรยึดเหนี่ยวเกี่ยวข้องเช่นกัน
อดีตควรปล่อยไว้ตามอดีต
อนาคตก็ควรปล่อยไว้ตามกาลของมัน
ปัจจุบันเท่านั้น
ที่จะสำเร็จเป็นประโยชน์ได้
เพราะอยู่ในฐานะที่ควรทำได้ไม่สุดวิสัย

(จากหนังสือดอกบัวบาน(บนแผ่นดินสยาม
)

วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ของขวัญจากพระอริยะ(1)

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี สอนว่า...


เปลือกของศาสนาคือ ทาน ศีล และพิธีกรรมต่างๆ
ถ้าทำถูกต้องแล้วจะกลายเป็นกระพี้
คือทำจิตให้เบิกบาน ยิ้มแย้มแจ่มใสจนเกิดปิติอิ่มใจ
ทาน ศีล นั้นจะเข้ามาในใจ
หล่อเลี้ยงน้ำใจให้ชุ่มชื่นอยู่เป็นนิจ
ได้ชื่อว่า
ทำเปลือกให้เป็นกระพี้


เมื่อพิจารณาไปถึงความอิ่ม
และความแข่มชื่นเบิกบานของใจ
ก็เห็นแต่ว่า
สิ่งเหล่านั้นเกิดจากปัจจัย คือความพอใจเป็นเหตุ
เมื่อความพอใจหายไป
สิ่งเหล่านั้นดับไปเป็นของไม่เที่ยงเป็นธรรมดา
เราจะยึดเอาไว้เป็นตัวตนไม่ได้
เป็นอนัตตาไม่มี
ใครเป็นใหญ่เป็นอิสระแล้ว
ก็ปล่อยวางเป็นสภาพตามความเป็นจริง
เมื่อพิจารณาถูกอย่างนี้
ได้ชื่อว่า
ทำกระพี้ให้เป็นแก่นสาร


(จาก ธรรมะและปฏิปทาของหลวงปู่เทสก์)