วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2557

มีในเล่มนี้ ท่านอ่านรึยัง?





เพื่อนๆ บางคนอาจไม่คุ้นเคยหรือคุ้นเคยกับชื่อ พระพยอม กัลยาโณ แห่งวัดสวนแก้วเป็นแน่ (ปัจจุบัน ดร.พระพยอม กัลยาโณ หรือพระราชธรรมนิเทศ)
                ท่านเคยเทศน์ให้ญาติโยมฟังเรื่องสติของคน
                คนเราต้องมีสติสัมปชัญญะในทุกๆ เรื่อง มิฉะนั้นอาจจะพลั้งพลาด ทำขายหน้าตัวเองได้ง่ายๆ
                ท่านยกตัวอย่างแม่ครัวคนหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่ปรุงอาหารเลี้ยงพระและก็เลี้ยงคนในงานบวช
                งานนี้เป็นงานใหญ่ เพราะเจ้าภาพเป็นคนมีชื่อเสียง มีคนมาช่วยงานเยอะ
                มีโยมหญิงผู้หนึ่งแก่แล้วมาช่วยงาน โดยมีหลานเล็กๆ คนหนึ่งติดตามมาด้วย
                โยมหญิงไปที่ไหน ทำอะไรหลานเกาะแจไม่ยอมห่างยังกะลูกแหง่ว่างั้นเถอะ
                บางครั้งโยมแกหงุดหงิด ทนไม่ไหวก็ตวาดออกมาเสียงดัง ไล่ตะเพิดให้ไปนั่งเล่นกับเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันที่มาในงาน
                หลานก็เชื่อ หายไปได้สักประเดี๋ยวก็กลับมาอีก
                เป็นช่วงระยะที่โยมหญิงกำลังถือถาดขนม กลิ่นหอมฉุยจะไปวางไว้ที่หน้าพระสงฆ์ เพื่อให้เจ้าภาพที่กำลังประเคนถวายอาหารอยู่ยังไม่เสร็จ
                ขณะผ่านแขกเหรื่อที่มาในงาน หลานมันเห็นขนมดีๆ ก็คงนึกอยากกินเอามากๆ
                จึงเกาะแข้งเกาะขายายแล้วพูดว่า
                “ยายกินหนม ยายกินหนม...”
                โยมหญิงผู้นั้น ก็ตวาดออกมาด้วยถ้อยคำอันหยาบคายเพราะเหลืออดเหมือนคนไม่มีเศียรของพระธรรมสวมอยู่ในหัวใจว่า
                “เดี๋ยวมึงค่อยแดก ให้พระฉันก่อน...”
                หลานก็เงียบไปได้
                เดินมาใกล้เวทีที่นั่งของพระสงฆ์ หลานก็ร้องขึ้นมาอีกว่า
                “ยายกินหนม ยายกินหนม”
                คราวนี้ยายตวาดหลานอย่างขาดสติกว่าเก่า
                ทั้งพระทั้งโยมแขกเหรื่อที่นั่งกันอยู่จำนวน ได้ยินเสียงตวาดของยายก้องไปทั้งสองหู
                “เดี๋ยวมึงค่อยฉัน ให้พระแดกก่อน...”

วันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2557

คำสอนของหลวงปู่แหวน สุจิณโณ





คำสอนของหลวงปู่แหวน สุจิณโณ

ถ้าได้ศึกษาเรื่อง ธรรมะคืออะไร
หรือสัพพะธัมมะ (สิ่งทั้งปวง) คืออะไร
โดยดูไปตามเนื้อหาแล้วก็จะรู้ได้ว่า
อัตตาไม่มีจริง เป็นเพียงสมมุติชื่อ
เรียกรวม (รูปธรรม+นามธรรม)
หรือเรียกรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เท่านั้น
เมื่อแยกออกเป็นส่วนประกอบย่อยที่ต่างกัน (แยกเป็นธาตุ)
หรือส่วนที่เป็นใจนั้น
จะเห็นว่าแต่ละธาตุ อนัตตา (ไม่ใช่อัตตา)
เช่น มโนธาตุ หรือส่วนที่เป็นใจนั้น
เป็นส่วนหนึ่งที่แตกต่างจากส่วนอื่น
ซึ่งแน่นอนว่า
ใจก็ อนัตตา (ใจไม่ใช่อัตตา)
ให้ภาวนา เอากายเป็นมรรค เอากายเป็นผล
จงพากัน ละอุปทาน อนิจจังทั้งห้า
ทุกขังทั้งห้า ละรูปธรรม นามธรรมนี้
วางได้ มันก็เป็นธรรมนั่นแหละ
วางไม่ได้ มันก็ยึดเอารูปธรรม นามธรรมเป็นตน
เป็นตัว มันก็เป็น “ธรรมเมา” อยู่นั่นเอง

วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สันติสุข ปีใหม่ 2557



สันติสุข


พระพุทธเจ้าสอนว่า “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ”

“สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี”

หมายความว่า

ความสุขอื่นมีเช่นกับความสุขในการดูละครดูหนัง

ในการเข้าสังคม

ในการมีคู่รัก คู่ครอง

หรือในการมีลาภยศ

ได้รับความสุขสรรเสริญ และได้รับความสุขจากสิ่งเหล่านี้ก็สุขจริง

แต่ว่าสุขเหล่านี้มีทุกข์ซ้อนอยู่ทุกอย่าง ต้องคอยแก้ไขปรับปรุงกันอยู่เสมอ

ไม่เหมือนกับความสุขที่เกิดจากสันติ ความสงบ ซึ่งเป็นความสุขที่เยือกเย็น

และไม่ซ้อนด้วยความทุกข์ และไม่ต้องแก้ไขปรับปรุงตกแต่งมาก

เป็นความสุขที่ทำได้ง่ายๆ

เกิดกับกายใจของเรานี่เอง

อยู่ในที่เงียบๆ คนเดียวก็ทำได้

หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมสังคมก็ทำได้

ถ้าเรารู้จักแยกใจหาสันติสุข

กายนี้ก็เพียงสักแต่ว่าอยู่ในที่ระคนด้วยความยุ่ง

สิ่งแวดล้อมเหล่านั้นไม่ยุ่งมาถึงใจ

แม้เวลาเจ็บหนัก มีทุกขเวทนาปวดร้าวไปทั่วกาย

แต่เรารู้จักทำใจให้เป็นสันติสุขได้

ความเจ็บนั้นก็ไม่สามารถจะทำให้ใจเดือดร้อนตามไปด้วย

เมื่อใจสงบแล้ว

กลับจะทำให้กายนั้นสงบ หายทุกขเวทนาได้ด้วย

และประสบสันติสุข ซึ่งไม่มีสุขอื่นยิ่งกว่าสันติสุขนั้น

ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาฝ่าฝืนของเรา

อย่าไปเร่งรัดให้เสียกำลังใจ

คงรักษาใจให้เป็นอิสระมั่นคงอยู่เสมอ

ไม่หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์เหล่านั้น

เป็นเหตุให้ใจตั้งอยู่ในสันติสุข

เป็นอิสระเกิดอำนาจทางจิตที่จะใช้ทำกิจ

อันเป็นหน้าที่ของตนได้สำเร็จสมประสงค์

“นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ - สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี”

เจ้าคุณพระยานรรัตนราชมานิต (ธมฺม วิตกฺโก ภิกขุ)

วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การบูชาครู



การบูชาครูเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกรูปทุกนามควรปฏิบัติ

เพราะครูบาอาจารย์เป็นพ่อแม่คนที่สองรองจากพ่อแม่ที่ให้กำเนิดแก่เรา

คนที่รู้จักบูชาครู รู้จักเคารพครู คนนั้นย่อมที่จะมีทางเจริญ

ตามหลักของธรรมะถือว่าบูรพาจารย์เป็นผู้ที่เลิศ เป็นผู้สร้างสรรค์ เป็นผู้ทำงานให้โลกเจริญ

การที่อาตมามาโลกมนุษย์ ก็เพื่อจะมาช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บของท่านให้หาย

โรคภัยไข้เจ็บที่สำคัญคือ อารมณ์ของเรา เราต้องรู้จักรักษาอารมณ์ในตัวเรา

อารมณ์ที่ 1  อย่าให้มีตัวโทสะเกิดขึ้น

อารมณ์ที่ 2  อย่าให้มีตัวโลภะเข้าแทรก

อารมณ์ที่ 3  อย่าให้มีตัวโมหะต้องกาย

ถ้าท่านรักษาอารมณ์ได้ โรคจะเข้ากายเราน้อยที่สุด ท่านก็จะมีสุขภาพดีที่สุด

และขอให้ทุกคนอภัยซึ่งกันและกันในหมู่มนุษย์

และก็จะต้องมีความสามัคคีในหมู่มนุษย์

โดยคิดว่า

ที่เราเกิดมานี้เท่ากับเรามาแลโลกที่เต็มไปด้วยความยุ่งยาก

ให้มาใช้กรรม

ขอให้สมความปรารถนา แต่ไม่ใช่คิดในสิ่งที่ไม่ดี

คือให้ปรารถนาแต่สิ่งที่ดี

เจริญพร

หลวงปู่ทวด (เหยียบน้ำทะเลจืด)

อดีตสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ สาม แห่งกรุงศรีอยุธยา

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

คำสอนของหลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม


มนุษย์เราเกิดมาก็ต้องทำบาป
เมื่อทำแล้ว
ก็ต้องได้รับผลกรรมที่เราทำไว้
นี่เป็นสัจจะความจริงอย่างเด็ดขาด

พ่อแม่ของเราทำกรรมมา
เราเกิดมาก็ทำกรรมไป
ทำไปทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

คนทำบาปจึงมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย
ทำบาปย่อมได้บาป
ทำบุญย่อมได้บุญ

มีบางคนชอบพูดคะนองปากว่า
ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป

พูดอย่างนี้ผิด
พูดไม่รู้จริง
เรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนี้
เราต้องใจเย็นคอยดูผลตลอดชีวิต
อย่าดูในระยะสั้นๆ
ต้องดูไปเรื่อยๆ ในระยะยาว
อย่าใจร้อนอยากจะเห็นผลดี
ในเวลาอันรวดเร็วนัก

ทำดียังไม่ได้ดี
เราต้องรอคอยผลดีได้
การทำดีเพื่อจะให้ดีนั้น
เราต้องทำให้ถูกหลักคือ
ทำให้ถูกดี ทำให้ถึงดี ทำให้พอดี
อย่าทำเกินพอดี
ทำให้ถูกบุคคล
ทำให้ถูกกาลเทศะ

การต้องการผลดีตอบแทนนั้น
อย่าหวังผลแต่ด้านวัตถุท่าเดียว
ต้องหวังผลทางใจคือ
ความสายใจ ความสุขใจด้วย

(จาก สิทธา เชตวัน - เวรกรรม 27 หน้า 6)