วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2553
08 ทำดีไม่ได้ดีเพราะอะไร ?
ชีวิตของเราในแต่ละวัน เช่น มีความน้อยอกน้อยใจ พอใจ หรือ
ไม่พอใจ หรือโทษคนรอบข้างไม่ยุติธรรม
เหล่านี้เกิดจากอารมณ์ของเราทั้งสิ้น
แล้วก็แก้ตัวให้ตัวเองด้วยการอ้างอ้างเหตุผลอย่างโน้นอย่างนี้ เป็นต้น
มีหนังสือชื่อ ชำแหละกฎแห่งกรรม เขียนโดย
ร.ต. เจ้าประเวศ ณ เชียงใหม่ อ่านแล้วทำให้ผมเปลี่ยนความคิด
"ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป"
หันมา ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
ข้อความเหล่านั้น มีดังนี้
1. ทำดีกับคนเลวกับคนเนรคุณ ได้ผลดีน้อยมากหรือไม่ได้เลย
ทำดีกับคนดี ได้ผลของความดีมากมาย
2. ตัวเองทำความดีเสมอ แต่ขณะเดียวกันก็ขัดขวางความดีผู้น้อย
หรือกันท่าไม่ให้เพื่อนฝูงทำความดี ด้วยผลกรรมอันนั้นทำให้
การเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งแต่ละครั้ง มีคนคอยขัดขวาง
หรือมีคนอื่นตัดหน้าแซงตัวไปก่อนเสมอ
3. ตัวเองทำความดีเสมอ แต่โอกาสเดียวกันก็ทำความชั่วไปด้วย
คือความดีมีความชั่วเป็นตัวถ่วง ผลของกรรมดีจึงชักช้า หรือ
ผลของกรรมดีมีความทุกข์แทรกแซงปะปนด้วย
4. ตนเองเป็นคนทำความดีเสมอ แต่ไม่ห้ามปรามบริวาร
คนข้างเคียงทำความชั่ว ปล่อยให้คนในบังคับบัญชาทำความผิด
ทำบาปโดยไม่ตักเตือนท้วงติง ความดีจะตอบสนองผู้กระทำ
ด้วยทรัพย์สมบัติ ด้วยตำแหน่งหน้าที่การงาน แต่สิ่งที่ได้มา
ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนเท่าที่ควร กลับเป็นประโยชน์แก่คนอื่นๆ
เป็นส่วนใหญ่ เช่น ได้รถประจำตำแหน่ง น้องเมียเอาไปใช้
มีคนรบกวนหยิบยืมของใช้หรือสมบัติส่วนตัว เป็นต้น
5. ตนเองประพฤติดีประพฤติชอบเสมอ แต่ริษยากลัวคนอื่นจะ
ได้ความดีเท่าเทียมตัวหรือมากกว่าตัว จึงกลั่นแกล้งหน่วงเหนี่ยว
ผลงานของคนอื่นไว้ รีบเสนอแต่ความดีของตนไปก่อน
ความริษยาจะทำให้ผลของความดีของตนเองสนองตอบช้า
ขัดข้องด้วยระเบียบข้อบังคับ ล่าช้าเพราะดินฟ้าอากาศ
เงินเดือนเต็มขั้นนานแล้ว ยังไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง
ต้องรอไป เพราะไม่มีตำแหน่งว่าง
ผู้ใหญ่ที่จะช่วยเหลือสนับสนุน เอาหลักฐานสำคัญไปทำหาย
ร่มโพธิ์ร่มไทรของตนเองล้มหายตายจาก ไม่ทันได้อุ้มชุเลี้ยงดู
อย่างเต็มที่
กฎแห่งกรรม หรือกฎแห่งการกระทำ เที่ยงธรรมเสมอ
เพราะมันฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา ไม่ได้อยู่ที่อื่น คนอื่น
วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553
07 ใช้สตินำทางเพื่อหาทางหลุดพ้น
พุทธทาสภิกขุได้กล่าวไว้
สติกับสัมปชัญญะนั้นเป็นของคู่แฝดกัน สติคือความระลึกได้
สัมปชัญญะคือความรู้ตัว คือรักษษความระลึกได้นั้นให้ยังคงอยู่
ดังนั้นถ้าเรามีสติสัมปชัญญะแล้ว จะไม่ทำอะไรผิดพลาด
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในปัจจุบัน ทำได้ทั้งวันเช่น กำลังล้างจานข้าว
ก็ให้จิตมันอยู่ตรงที่ปลายนิ้วมันถูกจาน จิตกำหนดตรงนั้นจนกว่าจะ
ล้างจานเสร็จ
หรือเวลาล้างหม้อ ล้างกระทะก็ในทำนองเดียวกันหรือกวาดพื้นอยู่
จิตก็กำหนดที่ปลายไม้กวาดกับพื้น อย่าได้แวบไปทางอื่นซึ่งไม่เกี่ยว
กับการกวาดพื้น หรือล้างจาน หรือล้างหม้อล้างกระทะ
กล่าวอีกนัยหนึ่ง สตินี้ทำได้ทุกอย่างทุกเรื่องของการงานที่มนุษย์
ต้องทำ และทุกอิริยาบทที่ ยืน เดิน นั่ง นอน อานิสงส์แห่งสตินี้คือ
ถ้ามีในบุคคลใดก็ตาม เขาเหล่านั้นย่อมได้รางวัลจากธรรมชาติมหาศาล
จากหนังสือพระไตรปิฎก เคยมีคนถามพระพุทธเจ้าว่า
พระองค์และสาวก วันหนึ่งๆ ทำอะไรบ้าง ?
พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า
ยืน เดิน นั่ง นอน คู้เหยียด เคลื่อนไหว
คนถามก็แปลกใจคิดว่า ทำไมหนอพระพุทธเจ้ากับพระสาวก
ซึ่งได้รับการยกย่องว่า เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
กลับทำอะไรเหมือนคนปกติธรรมดา
พระพุทธเจ้าจึงตรัสขยายความว่า
มันไม่เหมือนกัน เพราะพระองค์เวลายืนก็รู้ว่ายืน เดินก็รู้ว่าเดิน
นั่งก็รู้ว่านั่ง นอนก็รู้ว่านอน คู้เหยียดเคลื่อนไหวก็รู้ว่าคู้เหยียด
เคลื่อนไหว นี่ไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะคนปกติธรรมดาไม่ได้
มีสติรู้อิริยาบทเหล่านั้นอย่างแจ่มชัด
สติจึงเป็นเรื่อที่ทุกคนต้องฝึกไว้เสมอ
เพื่อให้ความทุกข์ในชีวิตของเราลดลง
ชนะ เวชกุล
วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2553
06 ตาย แล้วเกิดใหม่ทันทีหรือ ?
ก่อนอื่นขอนำความรู้เรื่อง มรณะของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
กล่่าวไว้ในหนังสือ ความเข้าใจเรื่องพระอภิธรรม มาพิจารณา
มรณะคือ ความตาย นั้นเกิดขึ้นด้วยเหตุ 4 อย่างคือ
หนึ่ง สิ้นอายุ คือเมื่อมีกำหนดแห่งอายุเท่าใด เมื่อถึงอายุเท่านั้นก็เรียกว่าสิ้นอายุ
สอง สิ้นกรรม คือมีกำหนดว่าจะต้องเสวยวิบากคือผลของกรรมอย่างใด
เมื่อสิ้นวิบากของกรรมอย่างนั้นก็เรียกว่า สิ้นกรรม
สาม สิ้นทั้งสอง คือสิ้นทั้งอายุและสิ้นทั้งกรรม ตามที่กล่าวมาแล้ว
สี่ เพราะกรรมตัดรอน คือปกติอายุจะดำเนินต่อไปได้อีก แต่ว่าเมื่อมีเหตุตัดรอน
ให้สิ้นชีวิตลงโดยปัจจุบันทันด่วน เช่น ประสบอุปัทวเหตุหรือว่า ถูกฆาตกรรม
คำถามจึงมีว่า แล้วอะไรเป็นตัวนำไปเกิด
พระเทพวิสุทธิกวีได้เฉลยไว้ในหนังสือการพัฒนาจิต ดังนี้
หากจะมีใครมาถามว่า "ที่ว่าคนเราตายนั้น ร่างกายตายหรือจิตตาย หรือว่า
ตายทั้งสองอย่าง" ขอตอบว่า
"ตายเฉพาะร่างกายเท่านั้น จิตหาได้ตายไปเหมือนกับร่างกายนั้นไม่
แต่ไปเกิดในภพใหม่ ชาติใหม่ ตามแรงเหวี่ยงของกรรม ซึ่งส่งบุคคล
ให้ไปเกิดในภพชาตินั้นๆ เปรียบเสมือนเรือนที่ถูกไฟไหม้ โดยที่เจ้าของ
ไม่ได้เป็นอันตราย
เมื่อรอดชีวิตมาแล้ว เขาก็อาจสร้างบ้านใหม่ได้ดี หรือไปอาศัยญาติพี่น้อง
อยููููู่ แต่ถ้าผู้นั้นไร้ความสามารถ ยากจน หมดเนื้อประดาตัว ซ้ำไร้ญาติขาด
มิตร เขาก็ย่อมไปหาที่อยู่ตามยถากรรมของเขา
ข้อนี้ฉันใด คนเราที่ตายไปจากโลกนี้แล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อร่างกายเดิมใช้การไม่ได้แล้วก็ย่อมไปเกิดในภพใหม่ ชาติใหม่
ตามพลังแห่งกรรมที่ตนได้ทำเอาไว้
ถ้าเขาทำกรรมดีไว้มาก คือพัฒนาอบรมจิตตนเองได้มากแล้ว
ก็ย่อมไปบังเกิดในที่ดี มีความสุข
ถ้าเขาทำความดีไว้น้อย แต่ทำความชั่วไว้มาก คือ ยังด้อยในด้าน
พัฒนาจิตใจของตนอยู่ เขาย่อมไปเกิดในที่มีความทุกข์ตามยถากรรมของตน"
วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553
บุญบาปทำแล้วไปหลบอยู่ที่ไหน ?
มีคำคนสมัยก่อนกล่าวไว้ สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ
เป็นคำสัตย์จริงหรือไม่เพียงไร
ผลก็คือทำให้ผู้บริจาคได้รับความอิ่มเอิบ ปลาบปลื้มใจ
ได้รับความสุข บาปก็โดยทำนองตรงกันข้าม
คือได้รับความขุ่นมัวในใจ หรือความทุกข์
ในขณะเดียวกันจิตของบุคคลนั้นยังสามารถแสดงผลของ
การกระทำที่จิตเก็บเอาไว้ได้ ต่อเมื่อมีเหตุปัจจัยมันก็แสดงออกมา
หรือวันนี้เราพบคนๆ หนึ่ง จำไม่ได้เลย แต่ดูเหมือนเคยรู้จัก
ครั้นกลับไปถึงบ้าน คิดทบทวนอย่างไรก็นึกไม่ออก
ก็เลยโยงไปให้นึกถึงคนที่พบเมื่อวันนั้นขึ้นมาได้ว่าคือผู้ใด
มีความสำคัญกับใคร อย่างไร บุญหรือบาปนั้นก็เหมือนกัน
เจตนานั้นคือกรรมนั่นเอง และกรรมคือการกระทำทั้งหลายนั้น
มิได้สูญหายไปไหนเลย เมื่อได้โอกาสก็จะเกิดขึ้นได้เสมอ
วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553
ตายแล้วเกิด-เกิดแล้วตายสนุกไหม?
เกิดมาแล้วต้องตาย ท่านเคยได้ยินประโยคนี้บ้างไหม?
พระท่านว่า...ตายแล้วต้องเกิดอีก ตามทฤษฎีการเวียนว่ายตายเกิด
โยมรู้ตัวเองหรือไม่ ตายแล้วได้ไปเกิดในแดนใด
ผมรู้ เพราะได้อ่านวรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วง
ในหนังสือกล่าวถึงการเกิดของสัตว์ ตายแล้วต้องไปเกิดในแดนใดแดนหนึ่ง คือ
กามภูมิ ๑๑ รูปภูมิ ๑๖ อรูปภูมิ ๔ รวมภูมิทั้งหลายได้ ๓๑ เรียกว่า ไตรภูมิ
สัตว์ที่ไปเกิดในภูมิทั้ง ๓ นี้ เรียกว่าปฏิสนธิ คือ
ตายแล้วไปเกิดต่อเนื่องกันมี ๔ ประเภท ดังนี้
๑. ชลาภุชะ ไปเกิดในมดลูก คือมนุษยืและสัตว์ดิรัจฉานที่คลอดออกมาเป็นตัว
และเลี้ยงลูกด้วยนม เช่น คน ช้าง ม้า วัว ควาย แมว หมา ฯลฯ
๒. อัณฑชะ ไปเกิดในลักษณะเป็นไข่ก่อน แล้วจึงฟักออกมาเป็นตัว
เช่น นก ไก่ งู เป็ด ปลา ฯลฯ
๓. สังเสทชะ ไปเกิดโดยไม่อาศัยพ่อแม่ แต่อาศัยใบไม้เน่า หญ้าเน่า เหงื่อไคล
ของโสโครก หรือที่ชุ่มชื้น เช่น เชื้อโรค สัตว์เซลเดียว มีอมีบา พลามีเซียม
หนอน ยุง ริ้น เรือด ไร แมลง ฯลฯ
๔. โอปปาติกะ เกิดผุดขึ้นเป็นตัวเป็นตนเติบโตขึ้นทันที โดยไม่อาศัยพ่อแม่
อาศัยอดีตกรรมอย่างดียว เช่น พวกสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เทวดา พรหม
เมื่อตายไป ผลการกระทำของตนในวันนี้ หรือวันก่อน หรือชาติก่อน จะส่งผล
ให้ไปเกิดในแดนเกิดดังที่กล่าวมา
ผมจำอดีตไม่ได้ จึงไม่รู้ว่า เคยไปเกิดในแดนใดมาบ้าง รู้แต่ว่าชาตินี้ได้เกิด
ในแดน ชลาพุชะ และก็ยังดีที่มีโอกาสประเสริฐ ได้เกิดมาเป็นคน แทนที่จะ
เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน จึงมีสิทธิจะเลือกแดนเกิดในชาติต่อไป
เพราะแม้เราไม่อยากเกิด ก็ต้องเกิดอีก เนื่องจากเรายังมีกิเลสอันเป็นเสมือน
ยางเหนียวในพืชอยู่
ส่วนบางคนตายแล้ว ไม่เกิดอีกก็มี คือ พระอรหันต์ เนื่องจากท่านหมดกิเลส
อันเป็นยางเหนียวในพืชแล้ว
วันนี้ของผม จึงเริ่มรู้สึกไม่สนุกในการเกิดแล้วครับ !
ชนะ เวชกุล